ปลายปี ค.ศ. 2014 ชื่อของบริษัททำนาฬิกาโบสถ์ของ Glashütte ที่หายไปกว่าชั่วอายุคนฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ได้กลับมาสร้างแนวคิดใหม่ของนาฬิกาเยอรมันด้วยแรงบันดาลใจที่ต่อยอดจากพื้นฐานประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และชื่อนั้นคือ “C. H. WOLF”
ประวัติศาสตร์ของ C. H. WOLF
Carl Heinrich Wolf (อ่านว่า: คาร์ล ไฮน์ริช โวล์ฟ) ได้เข้ามาสร้างชื่อใน Glashütte ในปี ค.ศ. 1868 โดยเริ่มจากตั้งโรงงานที่ทำนาฬิกาโบสถ์และชิ้นส่วนกลไกต่างๆ (german: Thurmuhren-Fabrik und Mechanische Werkstatt) และจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1871 ที่ถนน Feldstraße 2 (อ่านว่า: เฟล์ดชตราเซอะ)
![บริษัท C. H. WOLF เมื่อปี ค.ศ. 1971 [ที่มา C. H. WOLF]](http://www.lwt.club/blog/wp-content/uploads/2015/08/11705309_797385527041717_2091534344355242347_n.jpg)
ประมาณปี 1900 ลูกชายทั้งสองคนของ Carl Heinrich Wolf นั้นได้เข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัว พัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐานและตั้งเป็นบริษัทภายใต้ชื่อ “C. H. Wolf & Söhne/Glashütte” (อ่านว่า: เซ. ฮา. โวล์ฟ อุ่น เซินเนอะ กลาสฮุ๊ทเทอ) ด้วยความพยายามและผลงานที่มีคุณภาพ C. H. WOLF ได้สร้างชื่อจารึกลงไว้ในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนาฬิกาGlashütte ได้สร้างนาฬิกาให้กับโบสถ์มากมาย จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่โดยเกิดการรวมตัวระหว่างสองบริษัทโดยใช้ชื่อใหม่คือ LIWOS (ย่อมาจาก: Otto Lindig Nachfolger C. H. Wolf & Söhne) และชื่อของ C. H. WOLF จึงหายไปจากอุตสาหกรรมนาฬิกา Glashütte

ปัจจุบันยังมีนาฬิกาโบสถ์ C. H. WOLF ที่ยังทำงานอยู่สองที่ด้วยกันคือ Kirsche Possendorf และ Stadtkirche Wehlen โดยกลไกยังคงเป็นแบบดั้งเดิมไม่ได้ถูกตกแต่งเพิ่มแต่อย่างใด
การกลับมาของ C. H. WOLF

ชื่อที่ได้หายไปเกือบศตวรรษได้กลับมาอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2014 โดยสร้างนาฬิกาจากความคิดที่แปลกใหม่ ผสมผสานวัสดุที่หลากหลายเข้าด้วยกัน แต่ยังคงความคลาสสิกตามแบบฉบับ Glashütte ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการวัสดุที่ทำชุดนักบินรบมาทำนาฬิการุ่น Pilot Green และใช้ Cellulose Acetate ที่เป็นวัสดุพอลิเมอร์ในสมัยแรกๆ ที่มีความสำคัญในด้านการบินในสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง
![นาฬิกา C. H. WOLF รุ่น Pilot Green และ Pilot Red [ที่มา C. H. WOLF]](http://www.lwt.club/blog/wp-content/uploads/2015/08/Untitled-2.png)
สิ่งที่โดดเด่นคือ “หน้าปัดขนมชั้น” ที่เป็นการผสมผสานยางพาราและไม้คุณภาพสูงไว้ด้วยกัน จะต้องนำไม้ที่มีความหนาเท่าๆกันมาเรียกตัวสลับกันกับแผ่นยางพาราโดยจะต้องคุมความหนาให้ได้เท่ากัน ใช้เครื่องมือกดทับไว้เพื่อให้วัสดุทั้งสองติดกันภายใต้ความดันและอุณหภูมิที่เหมาะสม หลังจากนั้นจึงจะนำมาตัดบางในแนวขวางแล้วไปเข้าเครื่องตัดให้ได้ขนาดตามต้องการ ต้องใช้กรรมวิธีกว่า 25 ขั้นตอนเพื่อที่จะได้หน้าปัดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ C. H. WOLF


C. H. WOLF ใช้เครื่องของสวิสของค่าย Unitas และ Sellita (SW200 และ SW500) นำเครื่องมาแยกส่วนประกอบ ขัดแต่งทุกชิ้นส่วนอย่างประณีตบรรจง แล้วปรับแต่งโดยโดยเพิ่ม 3/4 Plate , Gold Chatons และ Swan Neck Regulator ตามแบบธรรมเนียมของ Glashütte

ในอนาคต C. H. WOLF จะเปลี่ยนไปใช้เครื่องของ Eterna แทน ซึ่งได้เซ็นสัญญากับ Eterna Movement และพัฒนา in-house movement เอง สำหรับราคาของ C. H. WOLF เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทาย ปัจจุบันราคาของนาฬิกา C. H. WOLF อยู่ที่ประมาณ 2,500€ ถึง 5500€ เป็นราคาในตำแหน่งที่อยู่ใน mid-high luxury watch ที่มีการแข่งขันสูงมาก นอกจากคู่แข่งในประเทศเองแล้วยังมีคู่แข่งเจ้าสังเวียนอย่างสวิตเซอร์แลนด์อยู่อีกหลายยี่ห้อ ผู้บริหาร คุณ Jürgen Jacob ได้บอกกับผู้เขียนว่า “ทุกสิ่งก็เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วก็ต่อยอดไปอย่างช้าๆทีละก้าว สักวันมันก็จะยิ่งใหญ่” ทำให้ผู้เขียนเชื่อมั่นตามแนวคิดของเยอรมันที่ว่า “einer nach dem anderen” ที่ให้ค่อยๆคิดที่ละก้าวและสร้างเป้าหมายจากพื้นฐานที่มั่นคง แม้วันนี้ C. H. WOLF จะยังเป็นบริษัทที่เพิ่งเกิดใหม่ แต่ด้วยวิสัยทัศน์, ความคิดสร้างสรรค์ และความตั้งใจมุ่งมั่น จะทำให้ชื่อของนาฬิกาสัญชาติเยอรมันนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในอนาคต
สุดท้ายนี้ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณ คุณ Jürgen Jacob (ผู้บริหารของ C. H. WOLF) ที่สละเวลาเพื่อพาพวกเราเข้าชมบริษัท รวมถึงให้ความรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ แรงบันดาลใจก่อนจะมาเป็น C. H. WOLF ในวันนี้ ถ้าผู้อ่านชอบฝากกดไลค์ >> C. H. WOLF – Facebook<< ด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูง