นาฬิกาที่นับว่าทำให้ LWT หันคอตามตั้งแต่แรกพบมีไม่มาก แต่หนึ่งในนั้นมีชื่อของ IWC Double Chronograph Edition “Le Petit Prince” Unique Piece อยู่ครับ นี่คือดาวเด่นประจำงาน Come Fly with Us ของทาง IWC ในวันที่ 29 มิถุนายน 59 ซึ่งเป็นงานอีเว้นท์นาฬิกาของแบรนด์ช่วงกลางปี LWT จึงไม่รอช้าเช่นเคย นำมารีวิวให้เข้าลึกถึงเรื่องราวพร้อมด้วยข้อมูลกลไกของนาฬิกาเรือนพิเศษที่ได้ชื่อว่า “Unique Piece” สำหรับผู้อ่านของ LWT ทุกท่าน
นาฬิกาที่เพิ่งเปิดตัวในไทยไปนี้คือรุ่น Double Chronograph ปกติซึ่งจะใช้ตัวเรือนทำจาก stainless steel (ผลิตจำนวนจำกัด 1,000 เรือน) ต่างจากตัวที่เรานำมาจากทองชาด (Red Gold) แทนซึ่งนอกจากจะเพิ่มความหรูแล้วก็อาจจะมีเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาจากวัสดุประเภทนี้ซักเล็กน้อย สำหรับทองชาดนั้นทาง IWC ได้ผลิตออกมาเพียงแค่ “เรือนเดียว” สำหรับส่งงานประมูลของบริษัท Sotheby’s Genava ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2015 ผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้คือคุณเดโช คารุคิน

โดยราคาที่ผู้ประมูลเคาะไปอยู่ที่ 47,500 สวิสฟรังก์ รายได้จากการประมูลนั้นถูกนำไปบริจาคให้กับศูนย์การฝึกสอนการประกอบอาหารและการบริการ หรือ เอชซีทีซี (Hospitality & Catering Training Centre – HCTC) ที่อำเภอแม่สอดนี่เอง ตามวลีเด็ดจากหนังสือว่า “สิ่งที่วิจิตรที่สุดในโลกไม่อาจเห็นหรือสัมผัสได้ แต่มันจะถูกรู้สึกได้ด้วยหัวใจ” (The Most Beautiful Things in the World cannot be seen or touched They felt with the Heart) – ข้อมูลเพิ่มเติมอ่าน “IWC สนับสนุนโรงเรียนสำหรับเยาวชนไทยผู้ด้อยโอกาส”
สำหรับหัวใจที่สูบฉีดนาฬิาเรือนนี้คือ Calibre 79420 กลไกขึ้นลานอัตโนมัติที่มาพร้อมฟังก์ชันวันที่, โครโนกราฟ (Chronograph) แบบเข็มวินาทีแยก (Split Second) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถจับเวลาได้ 2 ค่าต่อเนื่อง เมื่อเรากดปุ่มที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกาเข็มวินาทีที่แกนหลักทั้ง 2 เข็มจะออกตัววิ่งพร้อม ๆ กัน เมื่อเราต้องการบันทึกเวลาค่าแรกก็ทำได้เพียงกดปุ่มที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา เข็มวินาทีแรกจะหยุดให้เราอ่านค่า หากกดปุ่มที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกาซ้ำอีกครั้งก็จะหยุดเข็มวินาทีย่อยที่สองให้หยุดลง เมื่ออ่านค่าเสร็จให้กดปุ่มที่ 10 นาฬิกาอีกครั้งเพื่อให้เข็มวินาทีย่อยทั้งสองเข็มกลับเข้ามาซ้อนเป็นเข็มเดียวกันอีกรอบหนึ่ง ผู้ใช้งานจึงอ่านเวลาได้ 2 ค่าเสมอโดยไม่ต้องเสียเวลาในการ reset ใหม่แต่อย่างใด
แต่เดิมกลไกนี้มีพื้นฐานมาจาก ETA 7750 ซึ่งหลาย ๆ คนจะเกิดข้อคลางใจกันว่า “คุ้มค่าหรือไม่?” จริง ๆ แล้ว LWT อยากอธิบายให้ได้ฟังกันว่าการใช้กลไก in-house จ๋านั้นเองก็ไม่ใช่ข้อดีเสมอไปจากเรื่องของค่าใช้จ่ายในการ service ที่สูงกว่าปกติพอสมควร เครื่องที่ IWC หรือแบรนด์ชั้นสูงอื่น ๆ นำมาใช้นั้นก็ถูกคัดเกรดและจับแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่กันอยู่หลายชิ้นส่วนเพื่อให้ได้รับความเที่ยงตรงสูงสุดเท่าที่จะทำได้กันอยู่แล้วเพื่อรักษาชื่อเสียง ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือข้อเสียเลย เพียงแต่กระแส in-house มันมาแรงขึ้นก็เท่านั้น กลไกบางประเภทที่คิดกันมาก็ดีในตัวอยู่แล้ว nothing more nothing less ตามครรลองครับ
Cal. 79420 ทั่วไป หากดูรุ่นที่ใช้ในอดีตจะเห็นหน้าต่างแสดงวันอยู่ด้วย หากแต่ถ้า IWC นำมาใส่บนนาฬิกาเรือนนี้ผมคิดว่าหากเอาอักษรโรมัน (Mon, Tue, …) เข้ามาปนก็จะดูรกจนเกินไปและไปดึงความสวยของหน้าปัดสีน้ำเงินเข้ม (Midnight Blue) ที่บรรจุรายละเอียดไว้ให้น้อยลง การที่ IWC ถอดวงวันออกแล้วนำวงดาว 7 ดวงซึ่งปรากฏในหนังสือเจ้าชายน้อยมาแทนซึ่งจะหมุนไปตามวันจึงเป็นการใช้สอยวัตถุดิบที่ฉลาดกว่าครับ หน้าปัดย่อยแต่งด้วยดาวลายเส้นจากภาพที่แซ็งแตก (Saint–Exupéry; ผู้เแต่งเจ้าชายน้อย) วาดไว้ในหนังสือเจ้าชายน้อยเช่นเดียวกับวงดาว
ฝาหลังเราจะเห็นเรื่องราวของดาว 7 ดวงที่เกี่ยวข้องตามท้องเรื่องของเจ้าชายน้อย
- The Rose – กุหลาบจากดาว B-612 ดาวเดียวกับเจ้าชายน้อย (บ้างวิเคราะห์กันว่านี่คือตัวแทนของภรรยาผู้เขียน, คอนซูเอโล)
- The Lamplighter – คนจุดตะเกียงผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่แห่งดาว B-329 คิดถึงส่วนรวมก่อนเสมอแม้จะเหน็ดเหนื่อยเกินทน
- The Drunkard – คนขี้เมาแห่งดาว B-327 ผู้ดื่มเพื่อลืมความละอายที่ต้องกินเหล้า
- The King – ราชันย์แห่งหมู่ดาว พระองค์ได้บทเรียนเกี่ยวกับเรื่องอำนาจไปจากเจ้าชายน้อยมากทีเดียว
- The Geographer – นักภูมิศาสตร์แห่งดาว B-330 ผู้สอนเรื่องความไม่จีรัง ดาวดวงแรกที่ทำให้เจ้าชายน้อยเสียใจ
- The Bussinessman – นักธุรกิจแห่งดาว B-328 ผู้ยุ่งกับการนับดวงดาวทั้งหมดจนไม่มีเวลาแหงนหน้ามองสิ่งอื่น ๆ นอกจากกระดาษและโต๊ะ
- The Vain Man – ดาวแห่งคนหลงตัวเอง ผู้สอนให้รู้ถึงความชอบกลของความคิดผู้ใหญ่
สมบัติกันน้ำอยู่ที่ 60 เมตร เพียงพอสำหรับชีวิตประจำวัน เม็ดมะยมสลักตรา IWC การเพิ่มวงดาวเข้ามาแทนทำให้หวนนึกถึงการออกแบบของนาฬิกาต้นหน Type B ในช่วงสงครามโลก เลข 12 นาฬิกายังถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ △ เพื่อให้ใช้เป็นจุดสังเกตได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มืด เข็มทรงดาบและตัวเลขยังคงขนาดใหญ่สะใจ (พรายน้ำยังคงเป็นจาก Super-LumiNova® เจ้าเก่าประจำวงการ) ข้างในตัวเรือนบุเหล็กอ่อนเพื่อป้องกันอำนาจแม่เหล็กจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่จะรบกวนการทำงานของกลไกไว้ (อย่างไรก็ตามเรายังคงไม่แนะนำให้เอาไปวางท้านะเออ)
แม้จะหาตัว Red Gold ไม่ได้แต่ตัวปกติที่ผลิตออกมา 1,000 เรือนก็ทำให้ผมเชื่อว่าคงไม่ยากต่อแรงศรัทธาจนเกินไป สิ่งที่หยิบยกมาเล่นในเรื่องเจ้าชายน้อยและประวัติตัวของผู้เขียนอย่าง แซ็งแตก เองซึ่งเกี่ยวข้องกับการบินอย่างไม่อาจตัดขาดจากกันได้ จึงเป็นอย่างที่ได้บอกในตอนต้น Double Chronograph Edition “Le Petit Prince” เรือนนี้เป็นเรือนที่สาวกนาฬิกานักบินไม่ควรพลาดอย่างยิ่งครับ
สำหรับบทความรีวิวนี้ทาง LWT ขอขอบคุณ IWC และ บริษัท เพนดูลัม จำกัด ที่เปิดโอกาสให้ทางทีมงานเข้าไปศึกษาและถ่ายรูปนาฬิกาเพื่อนำมาทำรีวิว ผู้อ่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยตรงกับทางบูติกของ IWC สาขาสยามพารากอนได้ที่เบอร์ 02 610 9466