Roger Dubuis เป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ที่ LWQP ชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่พยายามสร้างจุดยืนบนเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งหนึ่งในรุ่นใหม่ล่าสุดจาก SIHH 2017 ที่ LWQP ส่งตรงจากเจนีวามาฝากผู้อ่านทุกท่านคือนาฬิการุ่น Excalibur Spider Carbon นาฬิกาที่ทำให้ LWQP ต้องมานั่งตั้งคำถามว่า “Roger Dubuis ทำได้อย่างไร ?”

ชื่อรุ่นก็บอกแล้วว่า “Carbon” แน่นอนว่าคอนเซปต์หลักของนาฬิกาเรือนนี้คือการใช้คาร์บอน อาจจะฟังดูเหมือนธรรมดาเพราะนาฬิกาหลาย ๆ รุ่นก็ทำจากคาร์บอนเช่นเดียวกัน แต่ทว่าเรือนนี้เป็นนาฬิกาเรือนแรกของโลกที่ใช้คาร์บอนในการตกแต่งกลไก ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือน แท่นเครื่อง รวมถึงชิ้นส่วนของตูร์บิญอง (Tourbillon) ซึ่งมุมมองในการผลิตชิ้นส่วนคาร์บอนที่มีขนาดบางแบบนี้เป็นเรื่องยากมาก
แล้วคำถามต่อมาคือ “ทำไมถึงยาก ?” แน่นอนว่าการผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาในปัจจุบันนั้นได้พัฒนาขึ้นไปอย่างมากตั้งแต่เรามีเครื่อง wire EDM ที่ใช้การตัดด้วยเส้นลวดที่มีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่าน ทำให้เราสามารถตัดชิ้นโลหะขนาดจิ๋วได้โดยไม่มีผลกระทบจากความร้อนที่ทำให้ชิ้นส่วนรูปทรงบิดเบี้ยว แต่กรรมวิธีนี้จะใช้กับวัสดุที่นำไฟฟ้าได้เท่านั้น แต่กับคาร์บอนที่แม้จะนำไฟฟ้าได้แต่ก็ไม่ดีมากพอที่จะสามารถใช้ wire EDM มาตัดได้ ทาง LWQP ได้ตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาว่าอาจจะใช้เครื่อง water jet ที่ใช้น้ำตัด เพราะว่าชิ้นส่วนคาร์บอนของรถยนต์ระดับไฮเอนด์นั้นได้มีการใช้น้ำในการตัดเช่นเดียวกัน ไม่รอช้า LWQP จึงเข้าไปสอบถามกับทางทีมงาน Roger Dubuis ว่า “คุณทำชิ้นส่วนที่บาง เช่นกรงของตูร์บิญอง จากคาร์บอนได้อย่างไร ใช้ water jet ใช่ไหม ?” ซึ่งคำตอบที่ทีมของ Roger Dubuis ได้ปฏิเสธที่จะให้คำตอบอย่างชัดเจน แต่เขาบอกว่า “เราไม่ได้ใช้ water jet แน่นอน! และกรรมวิธีนี้เป็นความลับพิเศษของเรา”

ในส่วนของตัวเรือนคาร์บอนนั้น Roger Dubuis ได้ใช้คาร์บอนรุ่น T700 ซึ่งเป็นคาร์บอนที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยทั่วไป แต่ที่น่าสนใจคือกรรมวิธีการผลิตที่ทาง Roger Dubuis ให้ข้อมูลว่า T700 มีรูพรุนน้อยกว่าชิ้นส่วนคาร์บอนทั่วไป 8% ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติเชิงกลของตัวเรือนนั้นดีขึ้น รวมถึงการจัดวางชั้นของคาร์บอนที่ทำให้ตัวเรือนนั้นมีลวดลายธรรมชาติที่สวยงาม และสะท้อนความเป็นนาฬิกาสปอร์ตอย่างเต็มตัว

สำหรับกลไกของ Roger Dubuis Excalibur Spider Carbon นั้นมีชื่อรุ่นว่า RD509SQ ที่ประดับด้วย flying tourbillon สูบฉีดกลไกด้วยความถี่ 21,600 vph หรือ 3 Hz และสามารถสำรองพลังงานลานได้ 70 ชั่วโมง ที่นอกจากจะใช้ชิ้นส่วนแท่นเครื่องและกรงทูร์บิญองจากคาร์บอนแล้ว ยังมีการเพิ่มแผ่นรังผึ้ง (honeycomb) ที่เหมือนกับตะแกรงด้านหน้ารถสปอร์ตต่างๆ และสิ่งสำคัญที่กลไกของ Roger Dubuis ขาดไม่ได้คือ Geneva Seal ที่รับประกันในเรื่องของคุณภาพเป็นอย่างดี

เมื่อนำตัวเรือนมารวมกับสายสีแดงที่รองด้วยยาง ทำให้กลิ่นอายของความเป็นสปอร์ตนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงขีดสุด ถ้าใครเป็นแฟนเหล่า supercars หรือ hypercars อยู่ ควรจะลองเข้ามาสัมผัส Roger Dubuis Excalibur Spider Carbon เพื่อทดสอบตัวตนภายในของคุณที่ต้องการแสดงออกผ่านข้อมืออย่างมั่นใจ
สำหรับ Roger Dubuis Excalibur Spider Carbon สนนราคาที่ 180,000 สวิสฟรังก์ ถ้าตีเป็นเงินไทยประมาณ 6,307,378 บาท (แปลงค่าเงินวันที่ 17.01.17) และจำกัดการผลิตเพียงแค่ 28 เรือนทั่วโลกเท่านั้น

ถ้าผู้อ่านชื่นชอบบทความและรีวิวของ LWQP ต้องห้ามลืมที่จะเพิ่ม @LWQP เป็นเพื่อนใน LINE (อย่าลืม @ หน้าชื่อ) เพราะเราจะอัพเดทข้อมูลใหม่บน LINE ส่งตรงถึงมือผู้อ่านอย่างทันเหตุการณ์