แม้ว่าต้นฝ้ายที่จีนลงทุนส่งยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ 4 ไปปลูกบนด้านมืดของดวงจันทร์จะตายลงในไม่ช้า แต่ก็ไม่ใช่ว่ามนุษย์เราจะไม่เคยมีชัยเหนือ “อีกด้านนึงของดวงจันทร์” ได้เลย จริงๆ แล้วทาง NASA เคยส่งมนุษย์ไปแล้วก่อนหน้าเมื่อปี 1968 ในภารกิจ Apollo 8 แน่นอนว่าผู้ผลิตเรือนเวลาที่มีพันธะเชื่อมโยงกับโลกแห่งการสำรวจอวกาศมากที่สุดอย่าง Omega ก็ย่อมไม่พลาดที่จะหยิบเอาความสำเร็จครั้งนี้มาขัดเกลาให้เป็นนาฬิการุ่นใหม่ให้เราได้จับจองกันในชื่อรุ่น OMEGA Speedmaster “Dark Side of the Moon” Apollo 8 (ในบทความนี้ขอย่อว่า DSoM Apollo 8)

ทาง LWQP ขอเปิดด้วยเรื่องของหน้าปัดก่อน (เพราะมันเด่นมาก!) พื้นหน้าปัดจริงๆ ของนาฬิกา DSoM Apollo 8 นั้นถูกลดทอนลงให้เหลือแค่วงหน้าปัดย่อย 3 วงสำหรับใช้แสดงฟังก์ชั่นจับเวลากับรางนาที (semi-skeletonized dial) เพื่อให้เห็นลวดลายกลไกที่ผลิตจากการใช้เลเซอร์สลักบริเวณแท่นเครื่องที่ยึดด้วยสกรูสีดำให้ดูนูนต่ำคล้ายกับพื้นผิวของดวงจันทร์ สีที่เลือกใช้ก็เป็นสีเทาอ่อนเมื่อเทียบกับอีกด้านหนึ่งเพราะ Omega ต้องการให้เป็นตัวแทนภาพดวงจันทร์ที่เราเห็นเมื่อมองจากโลกซึ่งจะเป็นด้านที่ได้แสงอาทิตย์

คำว่า Speedmaster ถูกสลักด้วยสีเหลืองเพื่อให้เข้ากับเข็มจับเวลาและจุดแต้มบริเวณด้านบนของหลักชั่วโมง ผมมองว่าทาง Omega เลือกสีได้ดีเพราะเมื่ออยู่ในแสงสลัวๆ สีเหลืองนั้นสามารถเข้ากันได้ดีกับสีอมเขียวของพรายน้ำ Super-LumiNova หรือเมื่ออยู่ในสภาวะที่มืดสนิทก็ไม่มีปัญหากับการอ่านเวลาซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเครื่องบอกเวลาเลยแม้แต่นิดเดียว ทว่าเมื่ออยู่ในสภาวะแสงปกติอาจจะอ่านเวลายากบ้างบางคราวเพราะเข็มนาทีกับชั่วโมงบางครั้งดูกลืนไปกับรายละเอียดบนหน้าปัด ขอบตัวเรือนของ DSoM Apollo 8 ที่ทำมาจากวัสดุเซรามิกตามสมัยนิยมกับกระจกนาฬิกาแซฟไฟร์ก็ช่วยลดปัญหาเรื่องขนแมวกวนใจไปได้เป็นอย่างดี (กระจกนาฬิกาเคลือบสารกันสะท้อนทั้ง 2 ด้าน)

ตัวเรือนขนาด 44.25 มม.ที่ผลิตจากวัสดุเซรามิกสีดำให้ความรู้สึกโฉบเฉี่ยวและมีความเป็นบุรษอัดแน่นอยู่ทุกอณู สามารถกันน้ำได้ 5 บาร์ เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันแต่ไม่เหมาะจะเอาไปลงน้ำแบบจริงๆ จังๆ ฝาหลังถูกเปลือยเปล่าให้เห็นการทำงานของกลไกที่ยึดโยงกันไว้ด้วยหมุดและลดแรงเสียดทานระหว่างกันด้วยทับทิมสีม่วงซึ่ง ต้องบอกว่ายิ่งเอามารวมเข้ากับลวดลายบนกลไกแล้วยิ่งสวยมากขึ้นไปอีกระดับ ดูเพิ่มความลึกลับสมกับเป็นด้านมือของดวงันทร์ ขอบฝาหลังยังสลักชื่อและปีของภารกิจไว้ (APOLLO 8, DEC 1968) รวมถึงประโยคเด็ดของนักบินอวกาศ Jim Lovell ที่พูดขึ้นว่า
“WE’ LL SEE YOU ON THE OTHER SIDE”
ก่อนหน้าที่สัญญาณติดต่อกับฐานจะถูกตัดขาดไประยะหนึ่งไปเมื่อยานโคจรไปที่ด้านหลังของดวงจันทร์

กลไกที่สูบฉีดเรือนเวลา DSoM Apollo 8 คือกลไกโครโนกราฟ Caliber OMEGA 1869 ซึ่งพัฒนามาจากกลไก Lemania 1873 สามารถสำรองพลังงานได้ 48 ชั่วโมง การใช้กลไกไขลานยังทำให้รูปลักษณ์ตัวเรือนโดยรวมดูบางลง แตกต่างจากเรือนเวลาอื่นๆ ในตระกูล DSoM ที่ใช้กลไกขึ้นลานอัตโนมัติ Co-Axial Caliber 9300 ผมคาดว่าทาง Omega ไม่ต้องการให้ตุ้มเหวี่ยง (rotor) มาบดบังรายละเอียดของกลไก
เรือนเวลามาพร้อมกับสายหนังสีดำแบบเจาะรู ซึ่งยิ่งเพิ่มความรู้สึกสปอร์ตให้มากขึ้นอีกระดับ สุดท้ายนี้หลังจากที่ผมอยู่กับ Omega มาซักระยะ ต้องบอกว่าลูกเล่นแต่ละทีที่เอามาจับกับประวัติศาสตร์การท่องอวกาศของแบรนด์ยังคงแพรวพราวและมาผนวกได้อย่างลงตัวดังที่เราเห็นได้ใน DSoM Apollo 8 เรือนนี้ครับ (ใครเป็นสาวก Speedmaster ต้องอดทนครับ — ของมันต้องมี)

OMEGA Speedmaster “Dark Side of the Moon” Apollo 8 สนนราคาไว้ที่ 338,000 บาท และทาง Omega ได้เริ่มทะยอยวางขายแล้วเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา
